วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย


             ในช่วงฤดูร้อน เราจะมีเห็ดฟางที่เหลือจากการทำนาเป็นจำนวนมาก เรามีปัญหาเกษตรไม่น้อยที่มีรายได้ไม่เพียงพอ เรามีเกษตรที่เผาฟางทิ้งไป ดังนั้นเราจึงมีการดำเนินการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านเห็ดฟาง รายได้ของเกษตรกร รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีรูปแบบการทำงานหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย
              เป็นวิธีการที่ได้ประยุกต์มาจากการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง   ข้อดีของการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ก็คือ สามารถจะใช้วัสดุเพาะได้หลายอย่าง เช่น ฟาง ผักตบชวา ต้นถั่ว ต้นกล้วย ขี้เลื่อยที่ผุแล้ว ชานอ้อย เหล่านี้เป็นต้น เป็นการเพาะที่ใช้วัสดุน้อยแต่ได้ผลผลิตดอกเห็ดได้สูง แต่เมื่อเห็ดออกดอกแล้วใช้เวลาการเก็บผลผลิตทั้งหมดได้ในระยะเวลาสั้นมาก สามารถรู้ผลผลิตค่อนข้างแน่นอน และเหมาะในการเพาะเป็นอาชีพหรือทำไว้เพื่อใช้กินเองในครัวเรือน เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยนี้ขนาดกองเล็กมาก ดังนั้นเพื่อสะดวกในการเพาะ จึงนิยมทำไม้แบบเพื่อจะอัดวัสดุที่จะเพาะให้เป็นรูปกองเล็ก ๆ ได้ 
สิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดฟาง
         วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะ ใช้ฟางตากแห้งสนิทซึ่งเก็บไว้โดยไม่เปียกชื้นหรือขึ้นรามาก่อน ใช้ได้ทั้งฟางข้าวเหนียว ฟางข้าวจ้าว ฟางข้าวที่นวดเอาเมล็ดออกแล้ว และส่วนของตอซังเกี่ยวหรือถอนก็ใช้ได้ดีถ้าเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการ เพาะต่าง ๆ แล้ว ตอซังจะดีกว่าปลายฟางข้าวนวดและวัสดุอื่น ๆ มาก เนื่องจากตอซังมีอาหารมากกว่าและอุ้มน้ำได้ดี กว่าปลายฟาง
         อาหารเสริม การใส่อาหารเสริมเป็นส่วนช่วยให้เส้นใยของเห็ดฟางเจริญได้ดี และทำให้ได้ดอกเห็ดมากกว่าที่ไม่ได้ใส่ถึงประมาณเท่าตัว อาหารเสริมที่นิยมใช้อยู่เป็นประจำได้แก่ ละอองข้าว ปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกแห้ง ไส้นุ่น ไส้ฝ้าย ผักตบชวาตากแห้งแล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ จอกแห้ง และเศษพืชชิ้นเล็ก ๆ ที่นิ่มและอุ้มน้ำได้ดี เหล่านี้ก็มีส่วนใช้เป็นอาหารเสริมได้เช่นกัน
         เชื้อเห็ดฟางที่จะใช้เพาะ การเลือกซื้อเชื้อเห็ดฟางเพื่อให้ได้เชื้อเห็ดที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับราคามีหลักเกณฑ์การพิจารณาประกอบดังนี้ คือ
      - เมื่อจับดูที่ถุงเชื้อเห็ด ควรจะต้องมีลักษณะเป็นก้อนแน่นมีเส้นใยของเชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนแล้ว
      - ไม่มีเชื้อราชนิดอื่น ๆ หรือเป็นพวกแมลง หนอน หรือตัวไร เหล่านี้เจือปน และไม่ควรจะมีน้ำอยู่ก้นถุง ซึ่งแสดงว่าชื้นเกินไป ความงอกจะไม่ดี
      - ไม่มีดอกเห็ดอยู่ในถุงเชื้อเห็ดนั้น เพราะนั่นหมายความว่าเชื้อเริ่มแก่เกินไปแล้ว
      - ควรผลิตจากปุ๋ยหมักของเปลือกเมล็ดบัวผสมกับขี้ม้า หรือไส้นุ่นกับขี้ม้า
            เส้นใยไม่ฟูจัดหรือละเอียดเล็กเป็นฝอยจนผิดธรรมดาลักษณะของเส้นใยควรเป็นสีขาวนวล เจริญคลุมทั่วทั้งก้อนเชื้อเห็ดนั้น
      - ต้องมีกลิ่นหอมของเห็ดฟางด้วย จึงจะเป็นก้อนเชื้อเห็ดฟางที่ดี
      - เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อต้องไม่ถูกแดด หรือรอการขายไว้นานจนเกินไป
      - เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อมานั้น ควรจะทำการเพาะภายใน วัน
      - อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาใด ๆ ของผู้ขาย ควรสอบถามจากผู้ที่เคยทดลองเพาะมาก่อนจะดีกว่า นอกจากนี้ควรมีการตรวจสอบเชื้อเห็ดฟางจากหลายยี่ห้อ เชื้อเห็ดฟางยี่ห้อใดให้ผลผลิตสูงก็ควรเลือกใช้ยี่ห้อนั้นมาเพาะจะดีกว่า
      - ราคาของเชื้อเห็ดฟางไม่ควรจะแพงจนเกินไป ควรสืบราคาจากเชื้อเห็ดหลาย ๆ ยี่ห้อ เพื่อเปรียบเทียบดูด้วย
       สถานที่เพาะเห็ด เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางเป็นการเพาะบนดิน ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมแปลงเพาะนั้นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต้องเป็นบริเวณที่ไม่มียาฆ่าแมลงหรือยากันเชื้อรา น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดี และต้องเป็นที่ไม่เคยใช้เพาะเห็ดฟางมาก่อน ถ้าเคยเพาะเห็ดฟางมาก่อนก็ควรจะทำความสะอาดที่บริเวณนั้น โดยการขุดผลึกดินตากแดดจัด ๆ ไว้สัก อาทิตย์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ บนดินที่จะเป็นพาหะของโรคและแมลงต่อเชื้อเห็ดที่เราจะเพาะในที่ดินนั้นได้ดีขึ้น
        สรุปแล้วที่กองเพาะเห็ดควรเป็นสถานที่ที่โล่งแจ้ง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สภาพดินบริเวณนั้นจะต้องไม่เค็ม เพราะความเค็มของดินจะทำให้เส้นใยเห็ดไม่รวมตัวกันเป็นดอกเห็ดได้

ปัจจัยที่สำคัญในการเพาะเห็ดฟาง
       1. สภาพอากาศที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดฟาง เห็ดฟางชอบอากาศร้อน อุณหภูมิ 35-37 องศาเซลเซียส ขึ้นได้ดีทั้งในฤดูฝนและในฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของดอกเห็ดได้ดีอยู่แล้ว ส่วนในช่วงอากาศหนาวไม่ค่อยจะดีนัก เพราะอากาศที่เย็นเกินไปไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของดอกเห็ดฟาง สำหรับทางภาคใต้ก็สามารถจะเพาะเห็ดฟางได้ตลอดทั้งปี ถ้ามีฝนตกไม่มากเกินไปนัก
          จึงเห็นได้ว่า การเพาะเห็ดฟางของประเทศไทยเราสามารถเพาะได้ตลอดปี แต่หน้าหนาวผลผลิตจะลดน้อยลงเนื่องจากอุณหภูมิต่ำ จึงทำให้ราคาสูง หลังฤดูเกี่ยวข้าวอากาศร้อน ฟางและแรงงานมีมากมีคนเพาะมากจึงเป็นธรรมดาที่เห็ดจะมีราคาต่ำลง ในฤดูฝนชาวนาส่วนมากทำนา การเพาะเห็ดน้อยลง ราคาเห็ดฟางนั้นก็จะดีขึ้น


        2. เรื่องความชื้น ความชื้นเป็นส่วนสำคัญในการเพาะเห็ดฟางมากเป็นตัวกำหนดการเจริญของเส้นใยเห็ดที่สำคัญถ้าความชื้นมีน้อยเกินไปเส้นใยของเห็ดจะเดินช้า และรวมตัวเป็นดอกไม่ได้ ถ้าความชื้นมากเกินไปการระบายอากาศภายในกองไม่ดี ถ้าเส้นใยขาดออกซิเจนก็จะทำให้เส้นใยฝ่อหรือเน่าตายไป
         น้ำที่จะแช่หรือทำให้ฟางชุ่มควรต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเกลือเจือปนหรือเค็ม หรือเป็นน้ำเน่าเสียที่หมักอยู่ในบ่อนาน ๆ จนมีกลิ่นเหม็น ก็ไม่ควรจะนำมาใช้ในการเพาะเห็ดฟางที่ดีนั้น น้ำที่ใช้ในการงอกเส้นใยเห็ดจะมาจากในฟางที่อุ้มเอาไว้และความชื้นจากพื้นแปลงเพาะนั้นก็เพียงพอแล้ว ปกติขณะที่เพาะไว้เป็นกองเรียบร้อยแล้วนั้นจึงไม่ควรจะมีการให้น้ำอีก ควรจะรดเพียงครั้งเดียวคือระหว่างการหมักฟางเพาะทำกองเท่านั้น หรืออาจจะช่วยบ้างเฉพาะในกรณีที่
ความชื้นมีน้อยหรือแห้งจนเกินไป การให้ความชื้นนี้โดยการโปรยน้ำจากฝักบัวรอบบริเวณข้าง ๆ แปลงเพาะเท่านั้นก็พอ
        3. แสงแดด เห็ดฟางไม่ชอบแสงแดดโดยตรงนัก ถ้าถูกแสงแดดมากเกินไปเส้นใยเห็ดอาจจะตายได้ง่าย กองเห็ดฟางเพาะเห็ดหลังจากทำกองเพาะเรียบร้อยแล้ว จึงควรจะทำการคลุมกองด้วยผ้าพลาสติกและใช้ฟางแห้งหรือหญ้าคาปิดคลุมทับอีกเพื่อพรางแสงแดดให้ด้วยดอกเห็ดฟางที่ไม่โดนแสงแดดจัดมีสีขาวนวลสวย ถ้าดอกเห็ดฟางโดนแดดแล้วจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำเร็วขึ้นกว่าปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น